Community แห่งนี้จะใช้งานได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
 
สยามโฟน ดอท คอม : ชุมชนผู้ใช้มือถือ
 โทรคมนาคม: มุมมองเศรษฐศาสตร์ในกรณี 3จี
 
หน้าแรกคอมมิวนิตี้ » Webboard - กระดานสนทนา มือถือ แท็บเล็ต
ตอบ: 0 / เข้าชม: 2548
ตั้งกระทู้ใหม่ ตอบหัวข้อนี้
Translate this topic to English แสดงความเห็นเฉพาะสมาชิก ทวีตไปบนทวิตเตอร์ แชร์หน้านี้ไปบนเฟสบุคดูกระทู้ก่อนหน้า :: ดูกระทู้ถัดไป
Author
Message
PapaDe'LaKing
Mobile Member
Mobile Member
Year's Star



สมัครเมื่อ: 01 Nov 2012
จังหวัด: กรุงเทพฯ
รายละเอียดสมาชิก - View user's profile
หัวข้อ : โทรคมนาคม: มุมมองเศรษฐศาสตร์ในกรณี 3จี
วันที่โพสท์ : 16 Nov 2012 10:29  
ตอบโดยอ้างถึง  

มุมมองเศรษฐศาสตร์ในกรณี 3จี

ไม่มีเหตุผลให้การออกใบอนุญาต 3จี บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ต้องล่าช้าออกไปอีก เพราะ 3จี ถือเป็นระบบสาธารณูปโภคชั้น พื้นฐานที่จะช่วยเพิ่มช่องทางการสื่อสารและเอื้อให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจอีกมาก

ทุกคนย่อมเห็นตรงกันว่าระบบขนส่งมวลชนของประเทศเรายังล้าหลัง ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง หรือการเชื่อมต่อระบบขนส่งในเมือง ที่เมื่อเทียบกับหลายประเทศแล้ว เรายังล้าหลังอีกมาก

นั่นเท่ากับเป็นการตัดโอกาสในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้การทำธุรกิจมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และระบบขนส่งที่ล้าหลังยังส่งผลกระทบด้านอื่นๆ อีกมาก เช่น สร้างมลพิษในเมือง ผลจากการจราจรที่ติดขัด เพราะคนหันมาใช้รถยนต์มากขึ้น เป็นต้น

ในทำนองเดียวกันกรณี 3จี ถือเป็นเสมือนช่องในการเพิ่มโอกาสในการเชื่อมต่อวงจรเศรษฐกิจให้หมุนได้มากขึ้น เพิ่มความเร็วในการส่งผ่านข้อมูลทางการค้าได้มากขึ้น เพิ่มความเร็วในการส่งผ่านข้อมูลทางการค้าได้มากขึ้น หาก 3จี สะดุดก็ไม่แตกต่างที่คนกรุงเทพฯ ยังไม่มีโอกาสได้ใช้รถไฟฟ้า 10 สายในการเดินทาง และยังไม่ทราบว่าจะต้องรอไปอีกนานเท่าไหร่

ทั้งๆ ที่หากกรุงเทพฯ สามารถเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาค ที่ควรมีระบบขนส่งมวลชนที่สะดวกสบาย ช่วยให้เมืองหลวงแห่งนี้ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจได้อีกมาก

กรณี 3จี ก็เช่นเดียวกัน นอกจากเป็นการเพิ่มช่องทางการสื่อสารแล้ว การใช้โทรศัพท์สมาร์ตโฟนที่แพร่หลายทั่วประเทศ จะช่วยทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีจำหน่ายสินค้าได้มากขึ้น ธุรกิจอื่นๆ ก็สามารถทำธุรกิจผ่านโทรศัพท์มากขึ้น หรือการขายสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ตที่ปัจจุบันมีอยู่แล้ว ก็จะเกิดขึ้นอีกมาก เพราะมีความเร็วมากขึ้น

ไม่ว่าธุรกิจที่เป็นดิจิตอล ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจด้านการเงินที่สามารถส่งข้อมูล คอนเทนต์ ภาพเสียง ผ่านโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต เว็บไซต์ ส่งผลให้วงจรธุรกิจหมุนในระบบมากขึ้น มีการจ้างงานมากขึ้น เงินสะพัดมากขึ้น

ธุรกิจที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดนี้ คาดว่าภายใน 1 - 3 ปี น่าจะมีเม็ดเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท จะดันตัวเลขเศรษฐกิจในแต่ละปีให้โตประมาณ 0.5 - 1%

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จึงต้องเดินหน้า 3จี เพื่อให้เทคโนโลยี 3จี เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ส่งเสริมสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเป็นแต้มต่อในการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเมืองไทยต้องก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 เทคโนโลยีจึงมีความสำคัญในอันดับต้นๆ
ผลพวงจากการมี 3จี นอกจากจะทำให้ระบบเศรษฐกิจหมุนได้มากกว่าที่เป็นอยู่แล้ว รัฐบาลยังจะเก็บได้ภาษีอีกมาก ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จะเพิ่มเป็นเงาตามตัว

ประเด็นที่เฝ้ารอว่าศาลปกครองจะชี้ขาดเรื่องนี้อย่างไร หลังผู้ตรวจการแผ่นดินได้ยื่นเรื่องให้พิจารณา มีประเด็นน่าขบคิดว่า หากมีการล้มการประมูลเหมือนที่ผ่านมาศาลปกครองเคยมีคำสั่งระงับโครงการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดมาแล้ว จะเกิดความลังเลในการตัดสินใจในการลงทุนจากต่างประเทศหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน และในอนาคตไม่ว่าการประมูลใดๆ ย่อมมีความเสี่ยงในการลงทุน ที่ต่างชาติจะมองว่าการประมูลของเมืองไทยมีความเสี่ยง เพราะการประมูลทุกเรื่องจะจบลงที่ศาล หรือต้องรอศาลตัดสินก่อน

ตรงนี้อาจทำให้เมืองไทยสูญเสียโอกาสในการเป็นแหล่งลงทุนที่ดี ซึ่งในอนาคตประเทศไทยยังต้องมีการลงทุนอีกมาก เช่น โทรทัศน์ โทรศัพท์ หรือโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ดังนั้น ไทยเองไม่ควรถูกยกให้เป็นประเทศที่ไม่น่าลงทุนของภูมิภาค

แน่นอนที่สุดการดำเนินการของรัฐ ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะต้องทำทุกอย่างให้โปร่งใสตามกฎหมาย และสามารถอธิบายได้ในทุกประเด็น

อย่างไรก็ดี การประมูล 3จี ครั้งนี้ มี 2 ประเด็น ที่น่าสนใจ คือ
1. เรื่องนี้ผ่านการทำประชาพิจารณ์มาแล้ว ดังนั้นกระบวนการคัดค้านก็ควรผ่านมาตั้งแต่ขั้นตอนนี้แล้ว
2. ขอตั้งคำถามว่า คนไทยควรเสียภาษีน้อยลงหรือไม่ ทำไมรัฐบาลถึงได้ปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะต้องการจะทำให้ธุรกิจมีแต้มต่อในการแข่งขันกับต่างชาติและดึงเงินทุนจากต่างชาติเข้ามาในประเทศใช่หรือไม่

ในกรณีเดียวกันทำไมรัฐบาลต้องตรึงน้ำมันดีเซลและแอลพีจี เพราะเป็นปัจจัยพื้นฐานในการทำธุรกิจและการดำรงชีวิตของประชาชน นั่นแสดงว่าการทำให้ราคาที่เป็นต้นทุนการทำธุรกิจ หรือการดำเนินชีวิตต่ำจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว ธุรกิจมีการแข่งขันได้และรัฐได้กลับคืนมาในรูปภาษี

ไม่ต้องถามว่า การประมูล 3จี ในเมืองไทยช้าไปหรือไม่ เพราะควรเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว และเป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศขาดแต้มต่อในการทำธุรกิจ ขณะนี้ทั้งโลกส่วนใหญ่ใช้ 3จี และ 4จี ไปนานแล้ว

หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพ เวลาเราไปต่างประเทศเห็นถนนคอนกรีต 4 เลน แต่บ้านเราเป็นถนนลูกรัง หรืออย่างมากก็แค่ถนนลาดยางมะตอย นี่สะท้อนถึงภาพลักษณ์การพัฒนาของประเทศได้อย่างดี

วันนี้ใช้ 3จี หลอกๆ ธุรกิจก็ยังไปได้ ถ้ามี 3จี จริงๆ ย่อมดีกว่านี้ เพราะระบบโทรศัพท์พร้อมรองรับแล้ว ประเด็นที่ตามมาก็คือ กสทช. ที่มีหน้าที่กำกับดูแลอัตราค่าบริการทั้งประเภทเสียงและข้อมูลของการบริการ 3จี จะทำให้ค่าบริการลดลงไม่น้อยกว่า 15 - 20% ของอัตราค่าบริการในปัจจุบัน ตรงนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ผู้บริโภคจะใช้ราคาค่าบริการที่ถูกและมีคุณภาพ

3จี เปรียบเหมือนการเปิดห้างสรรพสินค้าที่ให้คนมาเช่าที่ ที่จะทำให้เกิดผู้ประกอบการ สร้างอาชีพใหม่ๆ ขึ้นอีกมาก เนื่องจากในปัจจุบันคนใส่ใจเรื่องเทคโนโลยีมากขึ้น และเห็นว่าการทำธุรกิจที่อาศัยเทคโนโลยีเป็นการลดต้นทุน

ดังนั้น นอกจากเมืองไทยต้องมี 3จี ใช้แล้ว ยังควรต้องเร่งให้มีการใช้ 4จี ตามมาอีกด้วย เพราะไม่มีเหตุผลใดที่ประเทศเราจะสูญเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้อีก ซึ่งหากมองไปยังประเทศลาวที่จะเปิดใช้ 4จี จริงๆ แล้ว ลาวอาจไม่ได้ใช้ประโยชน์จาก 4จี ในทางธุรกิจมากเท่าที่ควร แต่ 4จี ของลาวสามารถยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศให้ดูดีขึ้น และมีความทันสมัยมากขึ้น

ดังนั้น ทำไมเราต้องตกใจเมื่อลาวใช้ 4จี และเมื่อย้อนมาดูประเทศเราแล้วรู้สึกอย่างไรในการพัฒนาประเทศ ทั้งๆ ที่เราไม่ได้เป็นประเทศที่ด้อยกว่า

นอกจากผลที่มีต่อภาพลักษณ์แล้ว ยังสะท้อนอีกว่าการดำเนินนโยบายของประเทศไม่มีทิศทางที่ชัดเจน ไม่ก้าวหน้า มีแต่อุปสรรค หรือจะพัฒนาด้านใดด้านหนึ่งก็มักจะติดขัดไปหมด

ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลให้การออกใบอนุญาต 3จี บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ต้องล่าช้าออกไปอีก เพราะ 3จี ถือเป็นระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จะช่วยเพิ่มช่องทางการสื่อสารและเอื้อให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจได้อีกมาก


คอลัมน์ : หุ้นส่วนประเทศไทย
ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย : ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ : โพสต์ทูเดย์วิเคราะห์ หน้า 2
ประจำวันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555
แสดงผู้ตอบย้อนหลัง:   
หน้าแรกคอมมิวนิตี้ » Webboard - กระดานสนทนา มือถือ แท็บเล็ต
ตั้งกระทู้ใหม่  ตอบหัวข้อนี้
หน้าที่ 1 จากทั้งหมด 1   

 
ไปยังหัวข้อ: