Community แห่งนี้จะใช้งานได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
 
สยามโฟน ดอท คอม : ชุมชนผู้ใช้มือถือ
 กสทช.ชนTDRI เคลียร์ปมคิด ?ซิมดับ?ความจริงที่ถูกละเลย
 
หน้าแรกคอมมิวนิตี้ » Webboard - กระดานสนทนา มือถือ แท็บเล็ต
ตอบ: 0 / เข้าชม: 2960
ตั้งกระทู้ใหม่ ตอบหัวข้อนี้
Translate this topic to English แสดงความเห็นเฉพาะสมาชิก ทวีตไปบนทวิตเตอร์ แชร์หน้านี้ไปบนเฟสบุคดูกระทู้ก่อนหน้า :: ดูกระทู้ถัดไป
Author
Message
siwawut00
Cool Member
Cool Member
Year's Star



สมัครเมื่อ: 07 Jan 2013
จังหวัด: กรุงเทพฯ
รายละเอียดสมาชิก - View user's profile
หัวข้อ : กสทช.ชนTDRI เคลียร์ปมคิด ?ซิมดับ?ความจริงที่ถูกละเลย
วันที่โพสท์ : 14 Sep 2013 21:14  
ตอบโดยอ้างถึง  

วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2556 เวลา 18:22:38 น.

หลังจากการออกประกาศห้ามซิมดับของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่เห็นว่าเป็นการขยายอายุสัมปทานออกไป 1 ปี เข้าข่ายทำเกินอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ทั้งที่ควรนำมาเปิดประมูลใหม่ทันทีและเกิดคำถามตามมาอีกมากมาย

จากมุมมองที่ต่างกันนี้เอง กสทช.จึงออกมายืนยันว่าจำเป็นต้องตัดสินใจบนเงื่อนไขสำคัญที่สุดคือดูแลคุ้มครองประชาชนที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก ก่อนที่จะนำคลื่น 1800 MHz ไปประมูลใหม่ พร้อมนำข้อมูลที่นายสมเกียรติไม่เคยหยิบยกขึ้นมาวิเคราะห์ อีกทั้งยังทำให้สังคมเข้าใจผิดต่อการดำเนินงานของ กสทช. และ กทค.


ประเด็นที่ 1. มีการขยายสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 หรือไม่

ข้อกล่าวหา การที่ กสทช. ขยายเวลาของสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 ซึ่งจะหมดอายุสัญญาวันที่ 15 กันยายน 2556 ออกไปอีก 1 ปี นั้น เนื่องจากไม่สามารถคืนคลื่นเพื่อจัดสรรด้วยการประมูลได้ทันเวลา

ความจริงที่ขาดหายไปและข้อมูลที่ถูกต้อง
1. กสทช.ไม่เคยมีมติให้ขยายเวลาของสัญญาสัมปทานออกไป เนื่องจากเห็นสอดคล้องกับความเห็นของคณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กสทช. ว่า เมื่อสัญญาสัมปทานคลื่น 1800 สิ้นสุด คลื่นต้องกลับมาสู่การบริหารจัดการของ กสทช. เพื่อนำไปจัดสรรตามกฎหมายต่อไป

2. การออกประกาศห้ามซิมดับไม่ใช่เป็นการขยายเวลาของสัญญาสัมปทาน เพราะหลังสัมปทานสิ้นสุดความสัมพันธ์ระหว่างคู่สัญญาสัมปทานสิ้นสุด สิทธิของคู่สัมปทานตามสัญญาสัมปทานสิ้นสุด โดยประกาศห้ามซิมดับไม่ได้ไปขยายสิทธิของคู่สัญญาสัมปทาน แต่สิ่งที่ประกาศห้ามซิมดับวางมาตรการคือ การกำหนดหน้าที่ให้ผู้ให้บริการเดิมต้องมีหน้าที่ให้บริการต่อไป โดยจะหยุดการให้บริการในช่วงมาตรการคุ้มครองไม่ได้ เพื่อมิให้ผู้ใช้บริการที่อยู่ในระบบจำนวนกว่า 17 ล้านคน ต้องเดือดร้อนจากสภาวะ ?ซิมดับ? หลังสัมปทานสิ้นสุด

3. ไม่มีกรณีที่?ประมูลคลื่นไม่ทันเวลา? เพราะการจะจัดประมูลคลื่นความถี่อย่างไร เมื่อใดนั้น กฎหมายให้ กสทช. มีดุลพินิจที่จะต้องกำหนดให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ซึ่งหากปัจจัยต่างๆ ยังไม่พร้อม ยังคงมีผู้ใช้บริการค้างอยู่ในระบบเป็นจำนวนมาก หากไปเร่งการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และทำให้ประชาชนเดือดร้อน

4. การที่จัดประมูลเร็วและได้ตัวผู้มีสิทธิในการใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz ก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ในกรณีนี้ จะไม่ทำให้ผู้ชนะการประมูลที่ได้สิทธิในการใช้คลื่นสามารถเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ทันที หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ไม่สามารถเชื่อมรอยต่อช่วงที่สัมปทานสิ้นสุดพอดี เพราะผู้ที่ชนะการประมูลดังกล่าวจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างโครงข่าย 4 จี ซึ่งไม่สามารถใช้โครงข่าย 2 จี ที่มีอยู่เดิมได้ จึงจำเป็นต้องใช้เวลาในการสร้างโครงข่ายเป็นปี ก่อนที่จะสามารถเปิดให้บริการ 4 จี ได้

5. การที่ไปคิดว่าหากประมูลเร็วๆ ก่อนสัมปทานสิ้นสุดแล้วจะสามารถโอนผู้ใช้บริการในระบบไปได้เลย เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องและสะท้อนให้เห็นว่า ผู้วิจารณ์เข้าใจกลไกการประมูลคลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคมผิดพลาด โดยไปคิดว่าการประมูลคลื่นความถี่เหมือนกับประมูลสิ่งของ เช่น รถยนต์ เมื่อประมูลเสร็จและได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ไปแล้วก็ขับรถยนต์ไปใช้ได้เลย ซึ่งไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อการประมูลคลื่นความถี่เสร็จแม้จะทำให้เราทราบว่าใครจะเป็นผู้มีสิทธิในการใช้คลื่นความถี่นั้น แต่การเปิดให้บริการแก่ประชาชนโดยใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งซึ่งต้องใช้ระยะเวลา ฉะนั้น การที่ กสทช. ใช้ดุลพินิจแล้วเห็นว่า ยังไม่ควรเร่งจัดประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ก่อนสิ้นสุดสัมปทาน เพราะจะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ จึงยังไม่จัดการประมูลในช่วงนี้ แต่ไปกำหนดกรอบเวลาการจัดประมูลที่เหมาะสม เช่นนี้ จึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่ไม่สามารถประมูลคลื่นได้ทันเวลาอย่างที่ ดร.สมเกียรติ เข้าใจ


ประเด็นที่ 2 ต้องเร่งรัดจัดประมูลคลื่น 1800 ก่อนสิ้นสุดสัมปทานหรือไม่

ข้อกล่าวหา ต้องจัดประมูลคลื่นความถี่ใหม่โดยเร็วที่สุด แต่ กทค. ไม่รีบจัดประมูลจึงทำให้ประเทศและประชาชนเสียประโยชน์

ความจริงที่ขาดหายไปและข้อมูลที่ถูกต้อง
1. ในทางสากล เหตุผลในการจัดสรรคลื่นความถี่โดยเร่งด่วนหรือประมูลคลื่นโดยเร่งด่วนมีเฉพาะบางกรณี เช่น กรณีที่ประเทศมีปัญหาคลื่นความถี่ขาดแคลน แต่ไม่เคยพบว่า มีการเร่งจัดการประมูลคลื่นความถี่เพื่อจะแก้ไขปัญหากรณีผู้ใช้บริการค้างอยู่ในระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่การจัดสรรคลื่นจะมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้เทคโนโลยีจากบริการ 2 จี ไปเป็น 4 จี ก็ยังไม่มีเหตุผลที่สมควรจะเร่งจัดการประมูล ดังตัวอย่างที่พบในหลายประเทศ

2. ในทางตรงกันข้าม หากดำเนินการตามที่ ดร.สมเกียรติ ชี้แนะ คือเร่งจัดประมูลโดยเอาวันสิ้นสุดสัมปทานเป็นตัวตั้งโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยความพร้อมจะส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาล เนื่องจาก มีแนวโน้มสูงว่าการประมูลจะล้มเหลว โดยจะมีผู้เข้าประมูลน้อยราย เพราะผู้ประกอบการบางรายยังถือครองคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่สัมปทานยังไม่หมดอายุอยู่จำนวนมาก จึงไม่มีสิทธิในการเข้าประมูล ซึ่งอาจจะใช้สิทธิฟ้องร้องเพื่อคัดค้านการประมูล นอกจากนี้ คลื่นความถี่จำนวนหนึ่งอาจไม่ได้รับการจัดสรร เนื่องจากคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่สัมปทานจะสิ้นสุดมีลักษณะเป็นคลื่นฟันหลอ ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาในการเจรจาและปรับปรุงการจัดสรรคลื่นเพื่อให้การจัดสรรคลื่นเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น

3. ประเด็นที่น่าเป็นห่วงที่สุดหากมีการเร่งประมูลคลื่นคือ ผลกระทบต่อผู้บริโภค เนื่องจากในขณะนี้อุปกรณ์โทรศัพท์มือถือที่รองรับ 4 จี และเทคโนโลยี 4 จี ยังมีราคาแพง หายาก และคุณภาพของเทคโนโลยี 4 จี ที่ใช้ในการให้บริการทางเสียงยังไม่ดีพอ จึงย่อมทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการสูง ซึ่งส่งผลต่อค่าบริการและค่าใช้จ่ายที่ผู้ใช้บริการต้องแบกรับนอกเหนือไปจากคุณภาพของการให้บริการด้านเสียง ซึ่งเทคโนโลยีของ 4 จี ในขณะนี้ยังเทียบ 3 จี ยังไม่ได้
4. ความเดือดร้อนของผู้บริโภคที่จะได้รับผลกระทบจากการเร่งการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ยังรวมถึงการที่ผู้ใช้บริการ 2 จี เดิม จะไม่สามารถโอนย้ายไปยังระบบใหม่ได้ทัน เนื่องจากผู้ชนะการประมูลย่อมมีแนวโน้มจะใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz ไปให้บริการในระบบ 4 จี

5. โดยที่ตามข้อเสนอของ ดร.สมเกียรติ นั้นไม่เห็นด้วยกับการออกประกาศห้ามซิมดับ เพราะเห็นว่าควรจะใช้วิธีการเร่งการประมูลเท่านั้น ผลที่จะเกิดขึ้นโดยไม่มีประกาศห้ามซิมดับคือ เมื่อสัมปทานสิ้นสุดลงในวันที่ 16 กันยายน 2556 ซิมดับทันที โดยที่ผู้ให้บริการไม่มีสิทธิใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz ในการให้บริการ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ใช้บริการ 2 จี ของคลื่นความถี่ 1800 MHz นี้ ถูกลอยแพ และจำเป็นต้องย้ายไปใช้บริการ 2 จี ของค่ายที่สัมปทานยังไม่หมด โดยค่ายที่จะได้ประโยชน์คือค่ายที่สัมปทานยังเหลือเวลาอีกหลายปี ซึ่งจะเหลืออยู่เพียงเจ้าเดียวในตลาด สภาพการณ์เช่นนี้ ย่อมทำให้เกิดความโกลาหลและเกิดปัญหาการผูกขาดการให้บริการ 2 จี ทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการ 2 จี เดือดร้อน ข้อวิพากษ์วิจารณ์ของ ดร.สมเกียรติ ในประเด็นนี้ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ จึงอาจมองว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อหลักการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม

ประเด็นที่ 3. มีเวลาถึง 420 วัน แต่ไม่เร่งประมูล ละเลยต่อหน้าที่หรือไม่

ข้อกล่าวหา หากนับตั้งแต่ประกาศแผนแม่บท กสทช. ปี 2555 ถึงวันประกาศมาตรการเยียวยา กินเวลาไปแล้ว 420 วัน กทค. รู้แล้วว่าสัมปทานจะสิ้นสุด เหตุใดจึงไม่ยอมเร่งรัดประมูล เปรียบเสมือนรู้ก่อนแล้ว 420 วัน ว่าบ้านตัวเองจะถูกเผา แต่ไม่ยอมทำอะไร เป็นการละเลยหน้าที่

ความจริงที่ขาดหายไปและข้อมูลที่ถูกต้อง
1. ดร.สมเกียรติ ชี้ว่า กทค. ไม่ยอมเร่งรัดประมูลคลื่นความถี่ก่อนสัมปทานสิ้นสุดทั้งที่มีเวลาถึง 420 วัน แล้วนำไปสู่ข้อสรุปว่า กทค. ละเลยต่อหน้าที่ เป็นการมองในมุมเดียวที่เหมือนกับจงใจไปสรุปว่าสุนัขซึ่งมี 4 ขา เหมือนกับเก้าอี้ที่มี 4 ขาเหมือนกัน โดยไม่ยอมชี้ให้เห็นว่าถ้าดูในรายละเอียดต่างๆ แล้ว สุนัขกับเก้าอี้ย่อมมีความแตกต่างกัน

2. การจัดสรรคลื่นความถี่มีขึ้นตอน มีปัจจัย ตลอดจนมีเหตุผลที่จะต้องพิจารณาหลายประการ การไม่ได้จัดประมูลคลื่นความถี่ก่อนสิ้นสุดสัมปทานจึงมิได้หมายความว่าจัดประมูลคลื่นความถี่ไม่ทัน แต่เป็นเพราะว่า กทค. ได้พิจารณาวิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว เห็นว่าข้อเสนอในการเร่งรัดประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ของ ดร.สมเกียรติ จะมีแต่ทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศมากกว่า จึงมิได้เห็นด้วยที่จะดำเนินการตามที่ ดร. สมเกียรติ ต้องการ

3. ถ้าเช่นนั้น เวลา 420 วัน ที่ ดร.สมเกียรติ หยิบยกขึ้นมาอ้าง กทค. ทำอะไรบ้าง ขอเรียนว่า ทันทีที่เริ่มปฏิบัติหน้าที่ กทค. ได้ใช้เวลาคุ้มค่า โดยปฏิบัติงานในเชิงรุก และดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ที่กฎหมายกำหนดจนเป็นผลสำเร็จ ได้แก่ การจัดทำแผนแม่บทต่างๆ จนสามารถประกาศใช้แผนดังกล่าวเพื่อกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จากนั้นเร่งจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz เพื่อให้บริการ 3 จี เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนคลื่นความถี่และเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการที่ให้บริการ 3 จี เป็นผลสำเร็จ โดยที่สามารถฝ่าฟันอุปสรรคจากกลุ่มเครือข่ายที่พยายามยับยั้งให้ไม่มีการประมูล 3 จี และเมื่อประมูลเสร็จแล้วก็ต้องเผชิญกับความพยายามในการล้มการประมูล แต่จากการฝ่าฟันของ กทค. ทำให้เอาชนะอุปสรรคต่างๆ ไปได้ จนสามารถออกใบอนุญาต 3 จี เป็นผลสำเร็จ ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU ที่เข้ามาศึกษาวิเคราะห์และประเมินผลการจัดประมูล 3 จี ของ กทค. ในเชิงลึก แล้วมีความเห็นว่า การดำเนินการของเราสอดคล้องตามหลักวิชาการและแนวปฏิบัติสากล

4. ขณะนี้อยู่ในช่วงที่ผู้รับใบอนุญาตทั้ง 3 ราย กำลังทยอยติดตั้งโครงข่ายและเปิดให้บริการ 3 จี ตามลำดับ แต่การเปิดให้บริการยังไม่เต็ม 100% จำเป็นต้องอาศัยระยะเวลา อย่างไรก็ตาม กทค. ได้เดินหน้าเตรียมจัดประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ทันที ซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก โดยมีความร่วมมือกับ ITU และ เคาะกรอบเวลาการจัดประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz แล้วว่าจะเป็นช่วงกันยายน 2557 โดยการกำหนดกรอบเวลานี้มิได้เป็นการเลื่อนการประมูลแต่อย่างใด เนื่องจาก กทค. เพิ่งมีมติเป็นครั้งแรกในการกำหนดกรอบเวลาจัดประมูลดังกล่าว ในขณะเดียวกัน กทค. ก็วางมาตรการต่างๆ รวมทั้งมาตรการทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการจำนวนกว่า 17 ล้านคน ที่อยู่ในระบบสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz นี้ โดยผลงานที่เห็นเป็นรูปธรรมคือการออกประกาศห้ามซิมดับ ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา

5. การที่ กทค.เร่งจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz หรือ 3 จี เป็นการด่วนทันทีที่ประกาศแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่เรียบร้อย โดยที่ไม่ได้จัดประมูลคลื่นในระบบสัมปทาน 1800 พร้อมกันไป หรือไม่ได้จัดประมูลคลื่นสัมปทาน 1800 ก่อน เนื่องจากมีความจำเป็นต้องเร่งแก้ปัญหาความขาดแคลนคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ที่เคยมีความพยายามจะจัดสรรแต่ล้มเหลว โดย ดร. สมเกียรติ เองก็มีส่วนสำคัญในการผลักดันแนวคิดต่างๆ ให้กับ กทช. ในการจัดประมูล 3 จี เมื่อปี 2553 โดยเฉพาะแนวคิดเรื่อง N-1 แต่สุดท้าย การประมูล 3 จี ของ กทช. ก็ต้องมีอันล่มไป ซึ่งมีผู้วิเคราะห์สาเหตุของความล้มเหลวไว้หลายสาเหตุ เมื่อ กสทช. โดย กทค. จัดประมูลจึงต้องระมัดระวังในการศึกษาวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของแนวคิดและกติกาในการจัดประมูลอย่างรอบคอบเพื่อมิให้การจัดประมูล 3 จี ของ กสทช. ต้องล้มเหลวซ้ำรอยเดิม โดยเมื่อคำนึงถึงผลเสียที่มีมากกว่าผลดีแล้วจึงมิได้นำแนวคิด N-1 ของ ดร. สมเกียรติมาใช้

6. คงไม่สามารถกล่าวว่าการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz เพื่อเปิดให้บริการ 4 จี ล่าช้า เพราะ กทค. ทำงานล่าช้า เนื่องจากการจัดประมูล 4 จี ก็เปรียบเหมือนการต่อเติมตึกชั้นที่ 4 หากต่อเติมตึกชั้นที่ 3 หรือยังประมูล 3 จี ไม่สำเร็จก็ไม่สามารถสร้างชั้นที่ 4 ได้ เนื่องจากการสร้างตึกย่อมไม่สามารถสร้างตึกชั้นที่ 4 ก่อนชั้นที่ 3 ได้ การประมูล 4 จี ย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หาก 3 จี ไม่เกิด ฉะนั้นถ้าจัดสรรคลื่นโดยการประมูล 3 จี ช้า การประมูล 4 จี ย่อมช้าตามไป ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ กทค. ทำงานช้า แต่อยู่ที่ความล้มเหลวในการจัดประมูล 3 จี ในปี 2553 ซึ่งนักวิชาการบางคนมีบทบาทในการออกแบบกติกา แต่ก็ไม่สามารถจัดประมูลได้สำเร็จ จึงทำให้ กทค. ต้องเร่งเต็มที่ในการจัดประมูลจนเป็นผลสำเร็จในวันที่ 16 ตุลาคม 2555 แต่กว่าจะออกใบอนุญาตได้ ก็มีการคัดค้านจากกลุ่มที่ไม่ถูกใจในการใช้ดุลพินิจของ กสทช. ทำให้เกิดการร้องเรียน ฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง กว่าจะสามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ไปได้ ก็ต้องใช้เวลาจึงทำให้ออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นบริการ 3 จี ได้ในวันที่ 7 ธันวาคม 2555

7. ภายหลังเมื่อประมูล 3 จี จนออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นได้แล้วก็ต้องให้ระบบ 3 จี เดินได้อย่างมั่นคง ก่อนจะจัดประมูล 4 จี ถ้าฐานยังไม่เข้มแข็ง การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz เพื่อนำไปสู่การให้บริการ 4 จี ย่อมล้มเหลว ยิ่งในกรณีที่มีผู้ใช้บริการ 2 จี ค้างอยู่ในระบบถึงกว่า 17 ล้านคน ก็เปรียบเหมือนผู้ที่อาศัยอยู่ก่อนในตึกชั้นที่ 2 เมื่อชั้นที่ 3 และชั้นที่ 4 ยังไม่สำเร็จ จะไปผลักไสไล่ส่งให้เขาย้ายไปได้อย่างไร จึงจำเป็นต้องให้เวลาเขา และทำให้ปัจจัยที่เกี่ยวข้องพร้อมเพื่อรองรับการโอนย้ายของเขาด้วย ฉะนั้นการที่ ดร. สมเกียรติ กล่าวหาว่า กทค. เข้ามารับตำแหน่งเกือบสองปี รู้อยู่แล้วว่าสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz จะสิ้นสุด แต่ไม่ยอมทำอะไร จึงเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริง โดยยืนยันได้จากหลักฐานชัดเจนว่า กทค. ได้เตรียมการเกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz อย่างต่อเนื่อง แต่ละขั้นตอนล้วนสัมพันธ์กันและจำเป็นต้องดำเนินการตามลำดับหรือคู่ขนานกัน


ประเด็นที่ 4. การปรับปรุงโอนย้ายเลขหมาย

ข้อกล่าวหา กทค. ไม่ได้เร่งการปรับปรุงการโอนย้ายเลขหมายให้สามารถโอนย้ายเลขหมายต่อครั้งได้ทีละมากๆ ทำให้ผู้ใช้บริการคงค้างอยู่ในระบบจำนวนมาก

ความจริงที่ขาดหายไปและข้อมูลที่ถูกต้อง
1. ปัจจุบัน กทค. ได้สนับสนุนให้มีการพัฒนาศักยภาพการโอนย้ายเลขหมายจาก 40,000 เลขหมายต่อวัน เป็น 300,000 เลขหมาย ต่อวัน โดยผู้ประกอบการทั้ง 5 ค่าย แต่ละค่ายก็มีระบบของตัวเองแยกออกมาของใครของมัน โดยรองรับได้โดยเฉลี่ยแต่ละรายราว 60,000 เลขหมายต่อวัน คำนวณจากจำนวนผู้ใช้บริการกว่า 17 ล้านคน ก็จำเป็นต้องใช้เวลากว่า 283 วัน ในการโอนย้าย

2. ข้อจำกัดอีกเรื่องหนึ่งในการโอนย้าย คือ ต้องได้รับความสมัครใจของผู้ใช้บริการ ฉะนั้น แม้ว่ามีผู้พัฒนาระบบการโอนย้ายให้สามารถโอนย้ายแบบยกล็อตได้ แต่ในทางปฏิบัติจะต้องสำรวจข้อมูลแล้วแยก ผู้ที่ไม่สมัครใจในการโอนย้ายออกมาก่อน จึงจะสามารถโอนย้ายได้ ซึ่งจะต้องอาศัยเวลาในการสำรวจและดำเนินการ

3. กสทช. มีข้อจำกัดในการไปเร่งรัดการโอนย้ายผู้ใช้บริการอย่างเต็มที่ในช่วงที่สัมปทานคลื่น 1800 ยังไม่สิ้นสุด เนื่องจากสัญญาสัมปทานได้รับการคุ้มครองตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ซึ่ง กสทช. ไม่สามารถเข้าไปก้าวล่วงได้

จากตัวอย่างทั้ง 4 ประเด็นใหญ่ที่หยิบยกมา ซึ่งครอบคลุมทั้ง 10 คำถามของ ดร.สมเกียรติ ทำให้กสทช.ประเมินแล้วว่า กรณีที่เป็นปัญหาในสังคมไทยอยู่ในขณะนี้ น่าจะเป็นเรื่องที่ผู้คนไม่ทราบความแตกต่างระหว่าง ?ดุลพินิจโดยชอบ? กับ ?ดุลพินิจโดยชอบแต่ไม่ถูกใจ? หรือไม่?

http://www.matichon.co.th/news_detai...&subcatid=0504
แสดงผู้ตอบย้อนหลัง:   
หน้าแรกคอมมิวนิตี้ » Webboard - กระดานสนทนา มือถือ แท็บเล็ต
ตั้งกระทู้ใหม่  ตอบหัวข้อนี้
หน้าที่ 1 จากทั้งหมด 1   

 
ไปยังหัวข้อ: