Community แห่งนี้จะใช้งานได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
 
สยามโฟน ดอท คอม : ชุมชนผู้ใช้มือถือ
 เสียงยังแตก…ฝุ่นตลบมือถือ 3จี ใครจะได้-ไทยจะเสีย?
 
หน้าแรกคอมมิวนิตี้ » Webboard - กระดานสนทนา มือถือ แท็บเล็ต
ตอบ: 2 / เข้าชม: 9230
ตั้งกระทู้ใหม่ ตอบหัวข้อนี้
Translate this topic to English แสดงความเห็นเฉพาะสมาชิก ทวีตไปบนทวิตเตอร์ แชร์หน้านี้ไปบนเฟสบุคดูกระทู้ก่อนหน้า :: ดูกระทู้ถัดไป
Author
Message
Krabi 3Gthailand
ผู้มาเยือน






หัวข้อ : เสียงยังแตก…ฝุ่นตลบมือถือ 3จี ใครจะได้-ไทยจะเสีย?
วันที่โพสท์ : 19 Oct 2009 14:04  
ตอบโดยอ้างถึง  

เสียงยังแตก…ฝุ่นตลบ
มือถือ 3จี

เป็นเรื่องเป็นราวเป็นข่าวต่อเนื่องและยังต้องจับตาดูกันต่อไปว่าที่สุดแล้วจะสรุปอย่างไร สำหรับการกดปุ่มพัฒนาระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือ “มือถือ” ของประเทศไทย ด้วยเทคโนโลยี “ยุคที่ 3” หรือ “3 จี (Third Generation)” โดยการดำเนินการของคณะกรรมการกิจการโทรคมแห่งชาติ หรือ กทช.

“3 จี” เป็นอีกก้าวของการพัฒนาการสื่อสารทางมือถือ

ขณะที่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และมีหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง...

ก่อนจะมาถึงวันนี้ก็มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ “3 จี” ในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการมีหรือไม่มีอำนาจดำเนินการของ กทช.ในปัจจุบัน, ค่าตอบแทนที่รัฐจะได้รับจากการให้บริษัทเอกชนไปดำเนินการ, ผลกระทบต่อบริษัทสื่อสารของรัฐ, การได้รับบริการที่ดีของประชาชน และล่าสุด อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็เผยถึงข้อสังเกตในประเด็นต่าง ๆ ของที่ประชุม ครม. เศรษฐกิจ ซึ่งก็รวมถึงประเด็นกติกาการแข่งขันต้องดี

อย่างไรก็ตาม กับข้อสังเกตเกี่ยวกับ “3 จี” นั้น ก็ยังรวมถึงประเด็น... “ไทยหรือต่างชาติ” ที่จะได้สิทธิมือถือ 3 จี ในประเทศไทย และ... “ความมั่นคงของประเทศ” อันเนื่องจาก 3 จี ด้วย !!

ประเด็นหลังนี้ ผู้ที่ออกมาจุดพลุ หลัก ๆ ก็คือ ศุภชัย เจียรวนนท์ บิ๊กบอส บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น หนึ่งในบริษัทสื่อสารที่ให้บริการโทรศัพท์มือถือในปัจจุบัน ซึ่งแม้การออกมาจุดพลุในเรื่องนี้จะมีบางฝ่ายมองว่าบริษัทนี้ก็มีสถานะทับซ้อนอยู่ เพราะก็คงจะเข้าประมูลคลื่น 3 จี ด้วย แต่ประเด็นที่ถูกจุดพลุนี้ก็ใช่ว่าไม่น่าคิด...

เพราะ... ที่ผ่านมาฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็เคยมีการพิจารณาถึงประเด็นการครอบงำกิจการโทรคมนาคมในไทยโดยคนต่างด้าวที่มิใช่ผู้ประกอบธุรกิจเอกชนเพียว ๆ โดยหลักใหญ่ใจความที่เคยมีการพิจารณาก็คือ... กรณีมีการครอบงำกิจการหรือมีพฤติกรรมที่ส่อหรือมีแนวโน้มว่าจะมีการครอบงำโดยคนต่างด้าว หากคนต่างด้าวดังกล่าวเป็น รัฐบาลต่างประเทศ รัฐวิสาหกิจต่างประเทศ บริษัทรัฐวิสาหกิจหรือองค์กรธุรกิจหรือองค์กรรูปแบบอื่นใดที่รัฐบาลต่างประเทศหรือผู้แทนหรือตัวแทนของหน่วยงานดังกล่าว เป็นเจ้าของและควบคุม ทั้งโดยทางตรงและโดยทางอ้อม ก็ควรต้องมีการสอบถามความเห็นจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงการคลัง กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงยุติธรรม ว่า มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติหรือไม่ และหากหน่วยงานใดเห็นว่ามีผลกระทบ ก็อาจออกคำสั่งให้ระงับการดำเนินการที่ถือว่าเป็นการครอบงำกิจการ

เรื่องนี้ในตอนนี้แผ่ว ๆ ไป แต่จุดนี้ก็บ่งชี้ว่า “โทรคมนาคม” เกี่ยวข้องกับ “ความมั่นคงของชาติ” ซึ่ง “3 จี” ก็เป็นการโทรคมนาคมรูปแบบหนึ่ง ที่พัฒนาขึ้นจากระบบมือถือเดิมที่เป็นยุค 2 จี และ 2.5 จี

ทั้งนี้ ทางผู้จุดพลุเรื่องความมั่นคงตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันมีรัฐวิสาหกิจต่างชาติเกี่ยวข้องกับบริษัทธุรกิจสื่อสารที่ให้บริการในไทย ซึ่งกับ “3 จี” ที่จะเป็นการสื่อสารยุคใหม่ที่เสรีและครอบคลุมคนไทยในวงกว้างกว่าที่ผ่านมามาก ประเทศไทยจำเป็นต้องพิจารณาในจุดนี้ให้ดี ซึ่งมิใช่ไปกีดกันบริษัทใด หากแต่ ควรมีกติกาที่เหมาะสม-รัดกุม เพื่อป้องกันปัญหาความมั่นคง ซึ่งประเทศอื่น ๆ เช่น มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ก็ให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก

ศุภชัยยังแสดงจุดยืนหลักอีกจุดหนึ่งว่า... ณ ปัจจุบันหากประเทศไทยจะให้สิทธิ์บริษัทสื่อสารในการให้บริการ “3 จี” โดยวิธีประมูล โดยคำนึงถึงแต่เม็ดเงินที่จะเข้ารัฐสูง ๆ เป็นหลัก บริษัทสื่อสารที่มีทุนมากและเกี่ยวพันถึงรัฐวิสาหกิจต่างชาติย่อมไม่มีปัญหา แต่ปัญหาจะเกิดกับบริษัทไทย ขณะที่เมื่อต้นทุนประมูลสูง การใช้บริการของคนไทยด้วยค่าใช้จ่ายที่ถูก ก็ย่อมเป็นสิ่งที่เกิดควบคู่กันไปได้ยาก ดังนั้น จึงควรมีการกำหนดเม็ดเงินตรงนี้ในระดับที่เหมาะสมเท่านั้น ซึ่งบริษัทไทยก็จะแข่งขันได้ อีกทั้งเป็นการสร้างความมั่นใจว่า คนไทยจะได้ใช้ของดีราคาถูก และกับวิธีการประมูลนั้นในหลายประเทศก็มีบทพิสูจน์ว่าอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้มาก ขณะที่วิธี “ประกวด” โดยยึดแผนดำเนินการให้บริการที่ดีเป็นเครื่องมือพิจารณาให้สิทธิ เป็นวิธีหนึ่งที่ไทยควรจะได้พิจารณา

กับการออกมาจุดพลุของบางค่ายสื่อสารดังที่ว่ามาข้างต้น แน่นอนว่าย่อมจะถูกมองว่าเพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่ อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยมีการวางกติกา “มือถือ 3 จี” ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนด้านการสื่อสารไร้สายครั้งสำคัญของไทย มีแนวโน้มครอบคลุมเข้าถึงคนไทยโดยตรงราว 16-17 ล้านครัวเรือน โดยคำนึงถึงประโยชน์คนไทยจริง ๆ คำนึงถึงการเป็น กติกาการแข่งขันที่ดี อย่างที่นายกฯอภิสิทธิ์-ครม.เศรษฐกิจระบุ มีกติกาที่ให้บริษัทไทยแท้ หรือแม้แต่บริษัทของรัฐ ได้มีโอกาสร่วม แข่งขันกันให้บริการประชน พร้อม ๆ ไปกับการมีแนวทาง ป้องกันความเสี่ยงเรื่องความมั่นคงของชาติ ในลักษณะที่มิใช่การกีดกันบริษัทใด ขณะเดียวกันกับเรื่องรายได้เข้ารัฐก็ ระวังการได้มากแต่ไม่คุ้มเสีย ถ้าเป็นเช่นนี้ได้ก็น่าจะ เป็นประโยชน์ที่ลงตัวต่อประเทศไทย-คนไทย มิใช่หรือ ?

“ระบบการสื่อสาร” ถือว่าสำคัญไม่ต่างจาก “ระบบธนาคาร”

“มีประโยชน์” แต่ก็จำเป็นต้อง “มีมาตรการป้องกันปัญหา”

“มือถือ 3 จี” ประเทศไทย-คนไทยจะได้ประโยชน์แค่ไหน ?

วันนี้เสียงยังแตก...ต้องรอดูบทสรุปอย่างห้ามกะพริบตา !!!.

นสพ.เดลินิวส์ 17/10/50
Krabi 3Gthailand
ผู้มาเยือน






หัวข้อ : ประมูลใบอนุญาต 3 จี กทช.ระวังสร้างรอยด่าง จี กทช.ระวังสร้างรอยด่
วันที่โพสท์ : 19 Oct 2009 14:19  
ตอบโดยอ้างถึง  

ประมูลใบอนุญาต 3 จี กทช.ระวังสร้างรอยด่าง จี กทช.ระวังสร้างรอยด่าง

การเปิดประมูลเพื่อให้ใบอนุญาตโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 หรือ 3 จี กลายเป็นเผือกร้อนในมือคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)ที่ทุกฝ่ายจับตาอย่างใกล้ชิดว่าจะออกมาในรูปใด

3 จี เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่มีทางเลือกการใช้บริการเพิ่มขึ้น ในการสื่อสารข้อมูลด้วยความเร็วสูงขึ้น สัญญาณมีความชัดเจนและมีคุณภาพดียิ่งขึ้น

ผู้บริโภคจะได้รับบริการโทรคมนาคมที่หลากหลายมากขึ้นกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะทำให้สังคมไทยก้าวเข้าสู่ยุคของการรับส่งข้อมูลความเร็วสูงไร้สาย หรือ Mobile Broadband Wireless Communications

ตามกรอบที่กทช.กำหนดในขณะนี้ จะเปิดประมูลวันที่ 8-9 ธ.ค.52 โดยจะออกใบอนุญาต(ไลเซนส์)เพิ่มอีก 4 ใบเพื่อให้บริการในลักษณะครอบคลุมทั่วประเทศ

ถือเป็นรูปแบบการจัดสรรคลื่นความถี่โดยการประมูลครั้งแรกของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม รูปแบบการประมูลคลื่นความถี่ที่ใช้กันโดยทั่วไปมีหลายรูปแบบ อาทิ

1.การประมูลรอบเดียวโดยยื่นเสนอราคาประมูลแบบปิดซอง (single-round, sealed bid) โดยผู้ประมูลจะเสนอราคาประมูลของใบอนุญาตเพียงราคาเดียว ผู้เสนอราคาสูงสุดจะเป็นผู้ชนะการประมูล

2.การประมูลพร้อมกันแบบหลายรอบ (Simultaneous Multiple Round - SMR) เป็นการเปิดประมูลใบอนุญาตทุกใบพร้อมกันและดำเนินการประมูลหลายรอบ ด้วยราคาที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนรอบ ผู้ยื่นประมูลจะเสนอประมูลตามราคาที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละรอบการประมูล

3.การประมูลแบบราคาประมูลลดลงเรื่อยๆ เริ่มต้นจากราคาสูงสุดที่กำหนดโดยหน่วยงานกำกับดูแล และในแต่ละรอบการประมูลราคาจะลดลงเรื่อยๆ เรียกวิธีนี้ว่า Dutch Auctions

4.การประมูลแบบปิดซองและผู้ชนะจ่ายค่าประมูลเท่ากับราคาที่เสนอโดยผู้เสนอราคาลำดับที่สอง เรียกว่าSecond Price Sealed bid (หรือ Vickrey Auctions) คล้ายกับการประมูลแบบ single-round, sealed bid ยกเว้นผู้ชนะการประมูลจะต้องจ่ายเงินเท่ากับราคาที่เสนอโดยผู้ประมูลลำดับที่สอง

เบื้องต้นกทช.กำหนดใช้วิธีการประมูลพร้อมกันแบบหลายรอบ หรือพูดง่ายๆคือ ใครให้ราคาสูงสุด ก็ได้รับใบอนุญาตไป

ประเด็นดังกล่าวเลยเป็นข้อถกเถียงกันอย่างหนัก

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ให้การบ้านข้อใหญ่แก่กทช.ไปขบคิด โดยเฉพาะการตั้งกติกาให้ชัดเจนก่อนการประมูล เพื่อไม่ให้สถานการณ์ซ้ำรอยอดีตและป้องกันการให้นอมินี เข้ามาถือครองสัมปทานสื่อสาร

โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอกชนจากต่างชาติที่มีรัฐบาลของประเทศถือหุ้นอยู่ อาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงภายในได้

นอกจากนี้หากการแข่งขันเป็นเพียงเรื่องการเสนอค่าตอบแทนให้กับกทช.หรือรัฐ ก็เกรงว่าจะมีการผลักภาระค่าใช้จ่ายมาให้ประชาชน

ดังนั้นจึงต้องดูเรื่องการแข่งขันให้โปร่งใส เป็นธรรม ไม่เปิดทางให้นายทุนใหญ่-นายทุนต่างชาติได้เปรียบ

เป็นเหตุให้กทช.จะไปทำประชาพิจารณ์อีกรอบในวันที่ 5 พ.ย.นี้

ส่วนในวันที่ 21 ต.ค. กทช.จะประชุมเพื่อสรุปราคาเริ่มต้นการประมูลใบอนุญาต 3 จี จากนั้นวันที่ 22 ต.ค.จะนำข้อสรุปราคาขึ้นเว็บไซต์ประกาศต่อสาธารณชน

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ยังมอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ไปปรับยุทธศาสตร์และกำหนดทิศทางการทำงานของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน)ให้ชัดเจนเพื่อรองรับการเปิดเสรีโทรคมนาคมและการเปิดประมูลใบอนุญาต 3 จี

เนื่องจากเมื่อปี "35 กทช. ได้ออกใบอนุญาต 3 จีไปแล้ว 2 ใบ ให้แก่ ทีโอที และ กสท แต่ กทช.ได้โอนสิทธิ์ใบอนุญาต 3 จีที่ได้รับสิทธิ์ไปพร้อมกับ ทีโอที ไปให้ทีโอทีแล้วทั้งหมด

คราวนี้ กสท.จึงมีสิทธิ์เข้าร่วมประมูลใบอนุญาตด้วย

หาก กทช.ออกใบอนุญาตคราวนี้อีก 4 ใบ เมื่อรวมกับของทีโอที ก็จะมีผู้ให้บริการ 3 จี รวม 5 ราย จะส่งผลให้การแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดรุนแรงแน่นอน

และหากเอกชนผู้รับสัมปทานจากทีโอที เป็นผู้ชนะประมูล จะมีการโอนย้ายลูกค้าไปใช้โครงข่ายใหม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อส่วนแบ่งรายได้และรายได้นำส่งรัฐด้วย

อย่างไรก็ตาม จากปัญหาทั้งหมดนี้ ทำให้หลายฝ่ายออกมาเรียกร้องให้ กทช.เลื่อนการประมูลออกไปก่อน จนกว่าจะทำเงื่อนไขการประมูลให้ชัดเจน

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐกิจยุคสารสนเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ส่วนตัวมีความคิดเห็นว่า กทช.ควรจะชะลอการออกใบอนุญาต 3 จีออกไปอีก แม้ว่าหลายฝ่ายจะออกมาบอกว่าเรื่อง 3จี ของประเทศไทยล้าหลังประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านก็ตาม

คลื่นความถี่ 3จี เป็นคลื่นที่มีมูลค่ามหาศาล มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ หากจะชะลอการออกใบอนุญาตออกไปอีกคงไม่เสียหายนัก

นายสมเกียรติ ยังแนะนำว่า กทช.ควรจะปรับหลักเกณฑ์ในเรื่องของการออกใบอนุญาตทั้ง 45 เมกะเฮิร์ตซ โดยแบ่งออกเป็น 4 ใบนั้น จะทำให้มูลค่าของคลื่นที่จะจัดสรรนั้นมีมูลค่าที่ลดลง

ดังนั้น กทช.ควรแบ่งใบอนุญาต 3จี ออกครั้งละ 1 หรือ 2 ใบ โดยอาจจะเปิดประมูลปีละ 1 หรือ 2 ใบ เป็นต้น เพื่อเพิ่มช่องทางการแข่งขัน หรือเพิ่มมูลค่าของใบอนุญาต 3จี ตามสภาพเศรษฐกิจของตลาด

"ตอนนี้ต้องศึกษาสภาพตลาด โดยปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจประเทศไทยยังไม่คงที่เท่าที่ควร การที่ กทช.เปิดประมูลทีเดียวทั้ง 4 ใบ จะทำให้เกิดปัญหาหลายๆ อย่าง อาทิ หากผู้ร่วมประมูลมีจำนวนเท่ากับใบอนุญาต หรือน้อยกว่าจะทำให้มูลค่าคลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรของประเทศกลายเป็นไม่มีราคา แต่หากแบ่งประมูลทีละ 1 หรือ 2 ใบ จะทำให้เกิดการแข่งขันและเห็นแนวทางการลงทุนเพิ่มขึ้น"นายสมเกียรติ กล่าว

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ขณะนี้การจัดสรรคลื่น 3จี ควรจะคำนวณถึงปัจจัยที่บริษัทเอกชนจะโอนย้ายลูกค้าจากสัมปทานเดิมที่ต้องจ่ายให้กับทั้ง ทีโอที และ กสท โดยคำนวณแล้วปีละประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แนวทางแก้ปัญหา อาจจะให้รัฐบาลเก็บค่าภาษีสรรพสามิต ทั้งผู้รับใบอนุญาตรายเดิม และรายใหม่ รวมถึงคำนวณอัตราค่าบริการที่เท่ากัน

น.พ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนแนวทางของรัฐบาลที่จะให้กทช. สร้างความชัดเจนต่อการเตรียมประมูลคลื่น 3 จี โดยอยากให้คำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นอันดับแรก ไม่ใช่จำนวนหรือวิธีการประมูลเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงสุดเท่านั้น

และหากเปิดประมูลโดยไม่คำนึงถึงเรื่องความมั่นคงและผลที่จะได้รับ อาจจะสร้างความเสียหายในลักษณะของต้นทุนต่อเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว

ทั้งหมดนี้เป็นข้อท้วงติงที่กทช.จะมองข้ามไม่ได้

"เอไอเอส-ดีแทค-ทรู"พร้อมลงสนาม

การประมูลใบอนุญาตโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 จี รอบนี้ เอกชนรายใหญ่อย่าง เอไอเอส ดีแทค และทรู ออกมาประกาศความพร้อมแล้ว

นายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า บริษัทได้เตรียมความพร้อมมาหลายปีแล้ว ทั้งด้านบุคลากร และการเงิน โดยขณะนี้ได้จัดตั้งบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวิร์ค จำกัด หรือเอดับบลิวเอ็น ซึ่งเป็นบริษัทลูก และเอไอเอสถือหุ้น 99.99% ด้วยทุนจดทะเบียน 350 ล้านบาท เพื่อจะรับผิดชอบการเข้าประมูลคลื่น 3 จี และจะรับหน้าที่บริหาร รวมทั้งการให้บริการเทคโนโลยี 3 จีโดยเฉพาะ

ในขณะที่เอไอเอสจะบริหารและให้บริการเทคโนโลยี 2 จี ซึ่งยังอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) อีก 6 ปี โดยการจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาเอไอเอสต้องการจะแยกกันให้ชัดเจน ทั้งในเรื่องระบบบัญชี และการบริหารงานหลายๆ ด้าน

ส่วนประเด็นที่มีการเสนอไม่ให้บริษัทต่างชาติเข้าร่วมประมูลด้วยนั้น กฎหมายข้อบังคับออกมาอย่างไรก็ว่ากันไปตามกฎหมาย ซึ่งก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าผู้ประกอบการที่จะขอไลเซนส์ได้ต้องเป็นบริษัทไทย

บริษัทไทยที่ตีความโดยกระทรวงพาณิชย์ ต้องถือหุ้นในสัดส่วน 51% ต่อ 49% และหากเอไอเอสได้ไลเซนส์ 3 จี ก็ได้ในฐานะบริษัทไทย ซึ่งที่ผ่านมาเอไอเอสทำธุรกิจโดยอาศัยเครดิตของตนเองมาโดยตลอด

และทำทุกอย่างเท่าที่กฎหมายกำหนด ทั้งการเสียภาษี และจ่ายส่วนแบ่งค่าสัมปทานให้กับบริษัทของรัฐทุกปี

นายทอเร่ จอห์นเซ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า จากประสบการณ์ของหลายประเทศทั่วโลก การประมูลถือว่าเป็นวิธีการให้ใบอนุญาตที่โปร่งใส และยุติธรรมมากที่สุดวิธีหนึ่งอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของ reserve price ควรกำหนดราคาเดียวสำหรับผู้เข้าร่วมประมูลทุกราย และควรจะมีใบอนุญาตสำหรับการประเมินไม่น้อยกว่า 3 ใบ เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่แท้จริง

เพื่อให้ผู้ประกอบการบางราย ที่อาจมีปัญหาเรื่องการเงินสามารถเข้าร่วมแข่งขันได้ กทช.อาจกำหนดราคาตั้งต้นที่ไม่สูงจนเกินไป และอาจพิจารณาผ่อนปรนวิธีการชำระเงิน อาทิเช่น การจ่ายเป็นงวด

เราอยากเห็นการประมูลคลื่นความถี่ 3 จี บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ เกิดขึ้นโดยไม่มีการชะลอออกไปอีก เพราะโครงการ 3 จี จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยทั้งในแง่การลงทุน การสร้างงาน การลดช่องว่างระหว่างคนเมืองและคนชนบทในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

อีกทั้งยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในสายตาของนักลงทุนอีกด้วย

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหารบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ในฐานะคนไทย ไม่อยากเห็นคนไทย นำเอาข้อมูล หรือทรัพยากรที่เป็นประโยชน์ของประเทศไปให้กับต่างชาติเพราะนั่นถือเป็นการทรยศ

จุดประสงค์อีกประการหนึ่งของการประมูล 3จี เป็นการก้าวสู่การเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นเสรีและธรรม ซึ่งจะนำไปสู่สิ่งที่ดีสุดสำหรับผู้บริโภคด้วย แต่เท่าที่ฟังดูที่ผ่านมาดูเหมือนกทช.จะให้ความสำคัญว่าการประมูลครั้งนี้จะได้เงินเท่าไหร่

"ยืนยันว่าทรูจะเข้าร่วมประมูล และจะสู้ขาดใจแม้ว่าจะถูกสบประมาทว่ามีหนี้เยอะอาจจะแข่งสู้รายใหญ่อีกสองรายได้ยาก หากทรูไม่สามารถประมูลได้ก็คาดว่าจะไม่มีผู้ประกอบการไทยรายใหม่รายไหนเข้าร่วมประมูลได้เช่นกัน"นายศุภชัย กล่าว

การให้ความสนใจด้านราคาประมูลสูงไว้ก่อนจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีทุนหนาทำให้เอกชนไทยซึ่งยอมรับว่าทุนน้อยกว่าต่างชาติ มีโอกาสน้อยลง และจะเป็นตัวผลักดันให้เอกชนไทยค่อยๆล้มหายตายจาก จากอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

และสุดท้ายทรูเองก็อาจจะต้องมีผู้ถือหุ้นต่างชาติเข้ามาช่วยลงทุน


ที่มา นสพ. ข่าวสด /18 /10/52
Athlon64fx
Mobile Member
Mobile Member
Year's Star



สมัครเมื่อ: 13 Oct 2003
จังหวัด: กรุงเทพฯ
รายละเอียดสมาชิก - View user's profile
หัวข้อ : Re: เสียงยังแตก…ฝุ่นตลบมือถือ 3จี ใครจะได้-ไทยจะเสีย?
วันที่โพสท์ : 22 Oct 2009 00:28  
ตอบโดยอ้างถึง  

ผมว่า งานนนี้ยังไม่จบง่ายๆครับ
แสดงผู้ตอบย้อนหลัง:   
หน้าแรกคอมมิวนิตี้ » Webboard - กระดานสนทนา มือถือ แท็บเล็ต
ตั้งกระทู้ใหม่  ตอบหัวข้อนี้
หน้าที่ 1 จากทั้งหมด 1   

 
ไปยังหัวข้อ: