Community แห่งนี้จะใช้งานได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
 
สยามโฟน ดอท คอม : ชุมชนผู้ใช้มือถือ
 4จี 7.5 หมื่นล้าน ...สะท้อนอะไรบ้าง!
 
หน้าแรกคอมมิวนิตี้ » Webboard - กระดานสนทนา มือถือ แท็บเล็ต
ตอบ: 0 / เข้าชม: 11527
ตั้งกระทู้ใหม่ ตอบหัวข้อนี้
Translate this topic to English แสดงความเห็นเฉพาะสมาชิก ทวีตไปบนทวิตเตอร์ แชร์หน้านี้ไปบนเฟสบุคดูกระทู้ก่อนหน้า :: ดูกระทู้ถัดไป
Author
Message
tontago
SP Member
SP Member
Year's Star



สมัครเมื่อ: 09 Sep 2015
จังหวัด: กรุงเทพฯ
รายละเอียดสมาชิก - View user's profile
หัวข้อ : 4จี 7.5 หมื่นล้าน ...สะท้อนอะไรบ้าง!
วันที่โพสท์ : 12 Nov 2015 21:09  
ตอบโดยอ้างถึง  

ขับเคี่ยวบี้กันสุดมาราธอนจริงๆ

สำหรับการประมูล 4 จีบนคลื่นความถี่ 1800 MHz 2 ใบอนุญาตแรกที่ ?คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ? หรือ กสทช.เปิดให้บริษัทสื่อสารโทรคมนาคมเข้าร่วมประมูลขับเคี่ยวกันเมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา และต้องใช้เวลาขับเคี่ยวกันข้ามวันข้ามคืนกว่าจะรู้ผลแพ้ชนะกันเอาตอนบ่ายแก่ๆ ของวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา ก่อนปิดต้นฉบับไม่ถึงชั่วโมง

ถือเป็นการประมูลชิงดำใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ที่กล่าวได้ว่าขับเคี่ยวและลุ้นระทึกกันมันหยดติ๋งมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ภาษาชาวบ้านเรียกว่าสู้กันถึงชั้นฎีกาเลยก็ว่าได้ เป็นการหักปากกานักวิชาการจอมมโนรวมทั้งเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นที่พากันตีโพยตีพายจะมีรายการฮั้วประมูลเกิดขึ้นก่อนหน้า

เพราะของจริงที่ออกมานั้นกลายเป็นหนังคนละม้วน บริษัทสื่อสารน้อยใหญ่ก็ยังคงลุยฟัดกันดุเดือดเลือดพล่านข้ามวันข้ามคืนอย่างไม่มีลดราวาศอกให้แก่กัน ทั้งที่ กสทช.ไม่ได้มีการปรับเงื่อนไขประมูลอะไรตามที่นักวิชาการและเครือข่ายเหล่านี้กระทุ้งอะไรเอาเลย

บรรยากาศการประมูลที่เริ่มต้นตั้งแต่เวลา 10.00 ของวันที่ 11 พ.ย.บริษัทสื่อสารที่เข้าร่วมประมูล 4 รายต่างแข่งขันเสนอราคาประมูลเพื่อชิงดำ 2 ใบอนุญาต 4 จีบนคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่มีออยู่ 2 ชุดใบอนุญาตนี้กันอย่างดุเดือดเลือดพล่านไม่มีการอ่อนข้อลดราวาศอกให้แก่กัน สู้กันข้ามวันข้ามคืนจนล่วงเข้าสู่เช้าวันที่ 12 พ.ย.การประมูลก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง

จนกระทั่งมาถึงการประมูลรอบที่ 75 ซึ่งสิ้นสุดลงในเวลา 11.00 น. ซึ่งขณะนั้นราคาประมูลใบอนุญาตในชุดที่ 1 อยู่ที่ 37,006 ล้านบาท ใบที่ 2 อยู่ที่ 37,404 ล้านบาท รวม 2 ใบอนุญาตได้เม็ดเงินเข้ารัฐ 74,410 ล้านบาทแล้ว บอร์ด กทค.จึงมีมติให้พักการประมูลชั่วคราวเพื่อให้ผู้เข้าประมูลได้พักผ่อนหลังเคาะราคามาราธอนมาถึง 24 ชั่วโมงแล้ว ก่อนจะลุยประมูลต่อในช่วงบ่ายในรอบที่ 76 ซึ่งก็ยังคงมีการเคาะราคากันต่อเนื่องจนมาถึงรอบที่ 78 ที่ราคาใบอนุญาตใบแรกอยู่ที่ 37,404 ล้านบาท และใบที่ 2 อยู่ที่ 38,200 ล้านบาท รวม 2 ใบอนุญาตได้เงินเข้ารัฐสูงกว่า 75,604 ล้านบาทไปแล้ว สูงกว่าราคาประเมินคลื่นความถี่ที่ประเมินไว้ 19,890 ล้านต่อใบอนุญาต หรือ 39,780 ล้านบาท ไปถึง 190% ไปแล้วและสูงกว่าที่ กสทช.ประเมินเอาไว้ที่ 43,000 ล้านบาทไปไกลลิบ โดยใช้เวลาประมูลมาราธอนกว่า 30 ชั่วโมง

แม้จะยังไม่ยุติแต่ก็ใกล้งวดเต็มทนแล้ว คาดว่าราคาสุดท้ายคงไม่หนีไปจากนี้

ผลการประมูลที่ออกมาสะท้อนอะไรบ้าง?

ไม่เพียงจะชี้ให้เห็นว่าประชาชนคนไทยกำลังโหยหามือถือระบบ 4 จีที่ทำให้ค่ายสื่อสารน้อยใหญ่ต้องบี้กันสุดฤทธิ์แล้ว ผลประมูลที่ได้ยังหักหน้าบรรดานักวิชาการไดโนซอรัสทั้งหลายที่เอาแต่ตีปี๊บเรื่องฮั้วประมูลเป็นรายวัน ที่สำคัญยังทำให้รัฐบาลได้เม็ดเงินเข้ารัฐโดยตรง 74,000 ล้านบาทเศษ โดยเอกชนต้องจ่ายก้อนแรกเข้ารัฐ 50% ภายใน 90 วันหรือกว่า 36,000 ล้านบาทแล้ว

ขณะที่ในส่วนของภาคเอกชนยังต้องมีการลงทุนเครือข่าย 4 จีนี้ตามมาอีกไม่น้อยกว่า 40,000-50,000 ล้านในระยะ 1-2 ปีนี้ ไม่รวมการลงทุนในส่วนของ Content อื่นๆ ที่จะมีตามมาอีก รวมแล้วคิดเป็นเม็ดเงินที่จะสะพัดในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า ไม่ต่ำกว่า 150,000-200,000 ล้านบาท

ผลประมูลดังกล่าวยังสะท้อนไปถึงความพยายามของบริษัททีโอที และ กสท โทรคมนาคม ที่ออกโรงตีปี๊บกดดันให้รัฐบาลและ กสทช.ระงับการประมูลครั้งนี้ ถึงขั้นฟ้องศาลให้ระงับการประมูล ด้วยหวังจะให้รัฐจัดสรรคลื่นดังกล่าวไปให้หน่วยงานโดยตรง โดยไม่มีการประมูลนั้น หากรัฐยินยอมตามข้อเรียกร้องดังกล่าว ไม่เพียงประเทศจะต้องสูญเสียโอกาสในการดึงเม็ดเงินเข้ารัฐกว่า 74,000 ล้านบาทแล้ว

ความหวังที่ประชาชนคนไทยจะเห็นการเปิดให้บริการ 4 จี ของรัฐวิสาหกิจทีโอทีและแคทในระยะ 1-2 ปีข้างหน้านั้นก็คงสูญสลายไปด้วย เพราะ 2 รัฐวิสาหกิจที่กำลังดิ้นสุดเฮือกเพื่อจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการจะไปมีความสามารถจะระดมทุนเป็นหมื่นๆ ล้านจากที่ไหน เพื่อมาขยายเครือข่าย 4 จีอะไรที่ว่านี้ และอาจต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี กว่าจะขออนุมัติงบลงทุนจากรัฐได้

ส่วนข้อห่วงใยที่ใครต่อใครพากันกังวล เมื่อบริษัทเอกชนต้องจ่ายค่าต๋งไลเซ่นเข้ารัฐสูงกว่า 75,000 ล้านบาทเช่นนี้ จะมีการผลักภาระไปลงเอาที่ค่าบริการมือถือ 4 จีหรือไม่นั้น เรื่องนี้ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.ออกมายืนยัน นั่งยันว่า กสทช.ได้กำหนด มาตรการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคเอาไว้เข้มงวด ที่นอกจากจะต้องเร่งขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมประชากร 40% ภายใน 4 ปีแล้ว ยังกำหนดอัตราค่าบริการ 4 จีจะต้องถูกลงกว่าค่าบริการ 3 จีในปัจจุบันอีกด้วย?

ที่สำคัญทำให้นึกย้อนไปถึงการประมูล 4 จีบนคลื่นความถี่ 900 เมกกะเฮิร์ตสอีก 2 ใบอนุญาตที่รัฐและ กสทช.ยอมอ่อนข้อเลื่อนเวลาประมูลออกไปเป็นวันที่ 15 ธ.ค.นี้ตามแรงกดดันของเครือข่ายอะไรต่อมิอะไรนั่น ซึ่งแน่นอนว่าการประมูลที่จะมีขึ้นนั้นก็คงมีการขับเคี่ยวชิงดำใบอนุญาตไม่แพ้ 2 ใบอนุญาตนี้ และอาจจะมากกว่าเสียด้วยซ้ำ เพราะฐานลูกค้ามือถือคลื่น 900 MHz นั้น มีมากกว่าคลื่น 1800 MHz เป็นเท่าตัวอยู่แล้ว

เห็นการประมูล 4 จีที่ออกมาหักปากกาเซียน ตบหน้านักวิชาการไดโนซอรัสทั้งหลายเช่นนี้แล้ว อันเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนคนไทย และบริษัทสื่อสารน้อยใหญ่ต่างพากันโหยหาเทคโนโลยี 4 จีกันอย่างถึงที่สุดแล้ว เลยทำให้นึกย้อนไปถึงระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของประเทศไทยที่วันนี้กำลังถูกนำไปเปรียบเทียบกับประเทศเมียนมาร์กันอยู่

คนพม่าที่โหยหา ปชต.นั้นสมหวังไปแล้ว ส่วนประชาชนคนไทยเรายังไม่สมหวังเช่นเดียวกันกับมือถือระบบ 4 จีที่เมียนมาร์ก็สมหวังไปก่อนไทยไปนานนับปีแล้ว ส่วนประเทศไทยเราก็รอการประมูลที่กำลังจะมีขึ้นในวันนี้นี่แหล่ะ!!!
แสดงผู้ตอบย้อนหลัง:   
หน้าแรกคอมมิวนิตี้ » Webboard - กระดานสนทนา มือถือ แท็บเล็ต
ตั้งกระทู้ใหม่  ตอบหัวข้อนี้
หน้าที่ 1 จากทั้งหมด 1   

 
ไปยังหัวข้อ: