Community แห่งนี้จะใช้งานได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
 
สยามโฟน ดอท คอม : ชุมชนผู้ใช้มือถือ
 ไอเป็นเลือด ไอเรื่อรังไม่หายร่างกายอยากบอกอะไรคุณ!?
 
หน้าแรกคอมมิวนิตี้ » ฝากข่าวประชาสัมพันธ์ (Information & Service)
ตอบ: 0 / เข้าชม: 876
ตั้งกระทู้ใหม่ ตอบหัวข้อนี้
Translate this topic to English แสดงความเห็นเฉพาะสมาชิก ทวีตไปบนทวิตเตอร์ แชร์หน้านี้ไปบนเฟสบุคดูกระทู้ก่อนหน้า :: ดูกระทู้ถัดไป
Author
Message
noovan
New Member
New Member
Year's Star



สมัครเมื่อ: 26 Jul 2016
จังหวัด: กรุงเทพฯ
รายละเอียดสมาชิก - View user's profile
หัวข้อ : ไอเป็นเลือด ไอเรื่อรังไม่หายร่างกายอยากบอกอะไรคุณ!?
วันที่โพสท์ : 25 Nov 2016 18:36  
ตอบโดยอ้างถึง  

เคยสังเกตกันไหม ทำไมไม่ว่าจะป่วยเป็นอะไรหรือไม่สบายเมื่อไรต้องได้ไอกันทุกที อาจจะไอ2-3วันแล้วก็หายไปหรือไอเรื้อรังไปหลายวัน จนบางครั้งอาจถึงขนาดได้ไอเป็นเลือดเลยก็มี...

อาการไอเกิดจากอะไร?
อาการไอเป็นกลไกของร่างกายที่พยายามขับสิ่งแปลกปลอมที่อาจเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจรวมทั้งเชื้อโรค เช่น วัณโรคให้ออกไปจากร่างกาย ในขณะที่การไอจะเป็นลดปริมาณเชื้อโรคในร่างกายของคนผู้ป่วย แต่ก็เป็นการแพร่การติดเชื้อต่อไปให้ผู้อื่นด้วยเช่นกัน ซึ่งระบบหายใจของมนุษย์นั้นมีหน้าที่อยู่ 2 อย่าง คือ นำออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงร่างกายเพื่อให้เรามีชีวิตอยู่ได้ และขับถ่ายของเสียคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันเป็นผลจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง(น้ำตาล ฯลฯ) เพื่อใช้เป็นพลังงานออกไป ถ้าปอดไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เราจะมีชีวิตอยู่ไม่ได้ เพราะร่างกายจะได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ

และมีภาวะกรดเกินจากการคั่งของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด โดยทั่วไปเราแบ่งระบบทางเดินหายใจ ออกเป็น 2 ส่วน คือ ทางเดินหายใจส่วนบน (Upper Respiratory Tract) คือ ส่วนตั้งแต่กล่องเสียง (Larynx) ขึ้นไป ประกอบด้วย จมูก ลำคอ กล่องเสียง และทางเดินหายใจส่วนล่าง (Lower Respiratory Tract) คือ ส่วนที่อยู่ใต้กล่องเสียง (Larynx) ลงมา ประกอบด้วยหลอดลมตั้งแต่หลอดลมใหญ่ (Trachea) ลงไปจนถึงถุงลม

ถ้าไม่นับผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ซึ่งมักจะมีอาการไอเรื้อรัง เนื่องจากมีหลอดลมอักเสบเรื้อรังแล้ว ผู้ป่วยที่มีอาการไอที่พบบ่อยที่สุดคือ อาการไอเรื้อรังหลังเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยพวกนี้อาจมีอาการไอเรื้อรังได้ โดยเฉพาะถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับพักผ่อนอย่างเพียงพอ และมีการใช้เสียงมากในระยะเริ่มแรกของโรค ทำให้มีอาการหลอดลมอักเสบตามมา นอกนั้นแล้วเรายังพบว่า หลังการติดเชื้อไวรัสอาจทำให้หลอดลมมีความไวต่อการถูกกระตุ้น (Bronchial Hyperresponsiveness หรือ BHR) แล้วจะมีการไอเกิดขึ้น

ซึ่งอาจกินเวลายาวนานถึง 3-4 สัปดาห์ได้โดยเฉพาะถ้าพักผ่อนไม่พอหรือใช้เสียงมากอยู่ โรคที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการไอบ่อยอื่นๆ ได้แก่ การอักเสบเรื้อรังในปอด เช่น วัณโรค หลอดลมอักเสบเป็นหนองเรื้อรัง (Bronchiectasis) ฝีในปอด และมะเร็งในปอด เป็นต้น แต่ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีเอ็กซ์เรย์ปอดผิดปกติ สาเหตุของการไอนั้นมีอยู่มากมาย โรคของระบบทางเดินหายใจและปอดแทบทุกโรคทำให้เกิดอาการไอได้ทั้งสิ้น นอกนั้นก็อาจเกิดจากโรคของระบบอื่น เช่น โรคจมูก โรคกระเพาะ โรคหัวใจ ยาหลายอย่างทำให้เกิดการไอได้

การไออย่างปัจจุบันพบบ่อยมักเป็นจากการอักเสบของระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น หลอดลมอักเสบ และส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ในเด็กมักเป็นจากการอักเสบในลำคอ หรือต่อมทอลซิลอักเสบ ในคนสูงอายุโดยเฉพาะมีโรคทางสมองอาจเป็นหลอดลมอักเสบ เนื่องจากการสำลักอาหารหรือน้ำลาย ซึ่งโรคที่ทำให้เกิดการไอเรื้อรังและมีเอกซ์เรย์ปอดปกติที่พบบ่อยได้แก่

โรคหอบหืด (Bronchial Asthma) ผู้ป่วยโรคหอบหืดโดยทั่วไปจะมีอาการไอ เหนื่อยง่ายและหายใจมีเสียงวี๊ด แต่ก็มีผู้ป่วยอีกจำนวนมากมีโรคหอบหืดชนิดที่ไม่รุนแรง บางรายไม่เคยมีอาการหืดจับหรือเหนื่อยง่ายเลย มีเพียงไอเรื้อรังเท่านั้น (พบว่าประมาณ 25% ของผู้ป่วยโรคหอบหืดไม่เคยมีอาการหืดจับ) แต่ถ้าตรวจสมรรถภาพปอดจะพบว่า หลอดลมมีความไวต่อสิ่งเร้า (Bronchial Hyperresponsiveness หรือ BHR)

นอกนั้นผู้ป่วยพวกนี้ที่มีอาการหลอดลมอักเสบเรื้อรัง การตรวจเสมหะจะพบเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophils แทนที่จะเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด Neutrophils อย่างที่เห็นในหลอดลมอักเสบทั่วไป Eosinophilic Bronchitis นี้ถือเป็น Cough-Variant Asthma คือ เป็นโรคหอบหืดที่มีหลอดลมตีบแบบไม่รุนแรง จึงไม่มีอาการหอบหืด

ผู้ป่วยซึ่งเป็นโรคแพ้อากาศและมีจมูกอักเสบเรื้อรัง (Allergic Rhinitis) ผู้ป่วยพวกนี้จะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล และมีน้ำมูกไหลลงในคอเวลานอน (Postnasal Drip) ทำให้มีอาการไอเรื้อรัง ผู้ป่วยอาจมีไซนัสอักเสบ (Paranasal Sinusitis) ร่วมด้วย โดยที่สาเหตุของโรคเป็นภูมิแพ้เช่นกัน ดังนั้นเราจึงพบโรคนี้ร่วมกับโรคหอบหืดในผู้ป่วยคนเดียวกันได้บ่อย

ผู้ป่วยที่มีกรดในกระเพาะและกรดไหลย้อนกลับเข้ามาในหลอดอาหารที่เรียกว่า Gastro-Esophageal Reflux Disease หรือ GERD ผู้ป่วยพวกนี้อาจมีไอเรื้อรังได้ รูปที่ 16 เป็นรูปวาดของระบบทางเดินอาหารส่วนบน อาหารผ่านปาก ลำคอ หลอดอาหารส่วนต้น (Esophagus) แล้วลงไปในกระเพาะอาหาร (Stomach) ตรงรอยต่อระหว่างหลอดอาหารส่วนต้นกับกระเพาะอาหารจะมีหูรูดปิดที่เรียกว่า Gastroesophageal Sphincter หรือ Lower Esophageal Sphincter ซึ่งจะกันไม่ให้อาหารและกรดในกระเพาะไหลย้อนกลับขึ้นไปได้
การไอมีผลต่อสุขภาพอย่างไร?

ทางปอด
อาจมีอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ มีการอักเสบของหลอดลมมากขึ้น บวมมากขึ้น มีการฉีกขาดเกิดขึ้น ปอดแตกและมีลมรั่วเข้าไปในช่องเยื่อบุหุ้มปอด (Pneumothorax) อันเป็นผลจาก Barotrauma ที่เกิดกับปอดขณะไอ
ทางสมอง
มีอาการหมดสติ (Cough Syncope)
ทรวงอก
เจ็บกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกซี่โครงหัก
การแทรกซ้อนอื่นๆ
ปัสสาวะราด (Urine Incontinence), เสียงแหบ, ไส้เลื่อน, ปวดหลัง, พักผ่อนไม่เพียงพอในผู้ที่มีอาการไอมากช่วงกลางคืน


การไอ-กลไกอย่างหนึ่งของการป้องกันระบบหายใจไม่ให้ได้รับอันตราย
แต่อย่างไรก็ตามการไอไม่ได้แค่สร้างผลกระทบกับร่างกายเราอย่างเดียว การไอยังเป็นกลไกอย่างหนึ่งของการป้องกันระบบหายใจไม่ให้ได้รับอันตราย เพราะเราหายใจเอาอากาศเข้าออกผ่านปอดวันละมากๆ (ประมาณ 8,000-12,000 ลิตรต่อวันขึ้นกับปริมาณการทำงานและการออกกำลัง) ขณะที่ในอากาศมีของเสียที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจปะปนอยู่ ยิ่งอยู่ในเมืองยิ่งมีมากจากการสูบบุหรี่ มลภาวะเป็นพิษอาจเป็นในรูปฝุ่นละออง ก๊าซเคมี และเชื้อโรค เชื้อรา เชื้อไวรัสต่างๆ ร่างกายจึงมีวิธีกำจัดสิ่งเหล่านั้นออกไป เพื่อลดอันตรายของทางเดินหายใจลง ผงฝุ่นละอองขนาดโตเมื่อหายใจเข้าไป (โตเกินกว่า 10 ไมครอน)

ส่วนใหญ่จะติดอยู่ในส่วนโพรงจมูกและหลอดลมส่วนบน คงมีฝุ่นที่มีขนาดเล็กเท่านั้นที่จะผ่านลงไปในหลอดลมส่วนล่างได้ ดังนั้นผงฝุ่นละอองขนาดเล็ก จะมีอันตรายกว่าผงฝุ่นละอองขนาดใหญ่ เซลล์ที่เยื่อบุหลอดลมจะมีขนบุ ซึ่งขนจะมีการโบกอยู่ตลอดเวลา บนปลายขนจะมีเมือกคลุมอยู่เป็นแผ่นที่เรียกว่า Mucous Sheet หรือ Mucociliary Blanket ขนจะโบกไล่ให้เมือกเคลื่อนตัวไปสู่ลำคอส่วนต้น ซึ่งเราอาจจะกลืนลงไปในกระเพาะหรือไอออกมา สิ่งแปลกปลอมที่หลุดเข้าไปในหลอดลมจะถูกจับติดกับเมือกที่บุหลอดลม

เมื่อพวกสารเคมีที่มีอันตรายเข้าไปสัมผัสก็ถูกผสม ทำให้เจือจางลงเกิดอันตรายน้อยลง ก๊าซก็เช่นเดียวกัน เชื้อต่างๆ ที่หายใจเข้าไปจะถูกทำลายโดยภูมิต้านทานต่อเชื้อนั้นที่มีอยู่ในน้ำเมือกและโดยเม็ดเลือดขาว และผลจะถูกขับถ่ายออกมาเป็นรูปของเสมหะ ปกติการหลั่งสารเมือกนี้มีปริมาณน้อยมาก ราวๆ วันละ 10-100 ลบ.ซม. ซึ่งทำให้เราไม่รู้สึกว่ามีเสมหะเพราะมันมักถูกกลืนลงไปกับน้ำลาย การไออาจแบ่งตามระยะเวลาที่เป็น ถ้าไอไม่ถึง 1 สัปดาห์เรียกว่า การไออย่างปัจจุบัน แต่ถ้าไอติดต่อกันนานเกิน 3 สัปดาห์เรียกว่า ไอเรื้อรัง นอกนั้นการไออาจแบ่งได้เป็นไอแห้งๆ คือ

ไม่มีเสมหะ
ไอมีเสมหะออกมา
ไอเป็นเลือดซึ่งต้องดูว่า เป็นเลือดอย่างเดียวไม่มีเสมหะปน หรือมีเสมหะปนอยู่ด้วย


การรักษาโรคไอเรื้อรัง
ในการเริ่มต้นการรักษานั้นส่วนใหญ่เริ่มจากการซักประวัติ การตรวจร่างกาย การตรวจทางรังสีทรวงอกพอจะบอกสาเหตุได้ว่า อาการไอเกิดจากอะไร แต่ผู้ป่วยบางรายที่มีความจำเป็นต้องตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ซึ่่งสามารถช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคและให้การรักษาได้ถูกต้องถึง 90% แม้ว่าสาเหตุของการไอส่วนใหญ่จะเกิดจากโรคของปอดและระบบทางเดินหายใจก็ตาม แต่บางครั้งก็พบว่าอาจเกิดจากโรคของระบบหัวใจ โรคของระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วประมาณ 20-60% ของผู้ป่วยอาการไอมิได้เกิดจากสาเหตุเดียว แต่เกิดจากหลายสาเหตุ ดังนั้นแพทย์ผู้ตรวจนอกจากเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคแล้ว แพทย์ควรรู้เรื่องอายุรกรรมทั่วไปอย่างดี หรือมีการร่วมการรักษาเป็นทีมของกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

ในกรณีที่สงสัยว่ามีโรคปอดอยู่แพทย์อาจขอตรวจเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ของทรวงอก ในกรณีที่สงสัยโรคเกิดจากการอักเสบของจมูกและหลอดลมส่วนต้น อาจต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางหู คอ จมูก ร่วมตรวจรักษาด้วย โดยอาจมีการเอกซ์เรย์ไซนัส (โพรงกระดูกที่อยู่รอบโพรงจมูก)เพื่อหาสาเหตุ ในกรณีที่สงสัยโรคหอบหืด แพทย์อาจขอตรวจดูสมรรถภาพของปอด (Pulmonary Function Test) เพื่อดูว่ามีหลอดลมตีบหรือไม่ ถ้าพบว่าตีบก็ให้พ่นยาขยายหลอดลม ถ้าหลอดลมสนองต่อยาก็จะช่วยเพิ่มน้ำหนักในการวินิจฉัยโรค บ่อยครั้งที่พบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืดในขณะที่อาการโรคยังไม่จับ (ไม่มีอาการ)

อาจไม่มีหลอดลมตีบได้ ผลการตรวจสมรรถภาพปอดเบื้องต้น อาจจะปกติทำให้บอกไม่ได้ว่าผู้ป่วยมีโรคหอบหืด ควรมีการทดสอบว่าหลอดลมไวต่อการเร้าผิดปกติหรือไม่ โดยการตรวจที่เรียกว่า Bronchial Challenge Test โดยใช้สารกระตุ้นให้หลอดลมเกิดการหดตัว ส่วนในกรณีที่สงสัยว่ามีกรดในกระเพาะไหลย้อนกลับนั้น แพทย์อาจต้องให้ผู้ป่วยมีการตรวจทางระบบทางเดินอาหาร ตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า การตรวจเป็นขั้นตอนตามที่กล่าวมาสามารถให้การวินิจฉัยและรักษาโรคได้สูงถึง 90-95% โดยที่โรคหลายชนิดถ้ายิ่งทิ้งไว้นานจะยิ่งรักษาให้หายยาก หรือไม่หายเลย ผู้ป่วยที่มีอาการไอเรื้อรังจึงไม่ควรรอการตรวจนานเกินไป


ที่มาของข้อมูล https://www.bangkokhospital.com/index.php/th/diseases-treatment/chest_08
แสดงผู้ตอบย้อนหลัง:   
หน้าแรกคอมมิวนิตี้ » ฝากข่าวประชาสัมพันธ์ (Information & Service)
ตั้งกระทู้ใหม่  ตอบหัวข้อนี้
หน้าที่ 1 จากทั้งหมด 1   

 
ไปยังหัวข้อ: