www.siamphone.com

Community

ดูเวอร์ชั่นปกติ

Numwaan_S

26 Jul 2018 00:48



ปฏิรูปด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ผลักดัน 2 มาตรการเร่งด่วน

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ผลักดัน 2 มาตรการเร่งด่วน ให้เห็นเป็นรูปธรรมในปี 61-62 จาก 4 มาตรการหลัก เน้นป้องปรามเรื่องการทุจริตภาครัฐ และส่งเสริมประชาชนมีส่วนร่วมต่อต้านการทุจริต - ชี้เบาะแส พร้อมกำหนดสอบวัดมาตรฐาน คุณธรรม จริยธรรม ของหน่วยงานภาครัฐเป็นตัวเลข ต้องมีคะแนนไม่ต่ำกว่า 80 จาก 100 ขณะเดียวกันเร่งผลักดันกฎหมายหลายฉบับ เพื่อรองรับการทำงานตามแผนปฏิรูปฯ

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้คณะกรรมการได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งสี่ภาค ทำให้รู้ว่าประชาชนต้องการมีส่วนร่วมในการปราบปรามการทุจริต สอดคล้องกับข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่กำหนดให้ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในการปราบปรามการทุจริต จึงเป็นที่มาในการกำหนดแผนการปฏิรูป ด้วย 4 มาตรการหลัก คือ 1. ป้องกันและเฝ้าระวังโดยประชาชน 2. ป้องปรามเรื่องการทุจริตภาครัฐ 3. การปราบปราม ด้วยความรวดเร็วรุนแรงและเด็ดขาด และ 4. การบริหารจัดการ จะต้องมีหน่วยงานกำกับดูแลนโยบายเรื่องการทุจริตระดับชาติ ดูแลเรื่องการขับเคลื่อนนโยบาย และการขับเคลื่อนระดับกระทรวง

ในระยะสั้น ปี 2561 – 2562 จะดำเนินการใน 2 มาตรการเร่งด่วนคือ 1. ป้องปรามเรื่องการทุจริตภาครัฐ ต้องมีการลงโทษทางวินัย อย่างรวดเร็ว รุนแรงและเด็ดขาด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐมีธรรมาภิบาล 2. ป้องกันเฝ้าระวังโดยประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริต โดยเป็นผู้ชี้มูลแจ้งเบาะแส

การป้องปรามเรื่องการทุจริตภาครัฐจะไปต่อยอดกับประกาศของ คสช. เพื่อให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐปฏิบัติงานอยู่ภายใต้หลักธรรมาภิบาล ลงไปในระดับหน่วยงานแต่ละกรม หัวหน้าแต่ละส่วนราชการต้องทำให้เกิดความโปร่งใส ต้องมีการลดการใช้ดุลยพินิจ ที่ทำให้เกิดการทุจริตอย่างมาก และมีการวัดมาตรฐานคุณธรรม จริยธรรม เป็นตัวเลข ต้องมีคะแนนไม่ต่ำกว่า 80 จาก 100

และกำหนดให้ภาครัฐร่วมกับภาคเอกชนในการป้องกันการทุจริต ส่งเสริมให้เอกชนจัดตั้งบริษัทคุณธรรมจริยธรรมโดยสมาคมไอโอดี ที่มีข้อกำหนดว่าบริษัทเอกชนจะไม่ให้สินบนแก่หน่วยงานของรัฐ กำหนดกลไกการตรวจสอบ อย่างเช่น การจัดซื้อจัดจ้างโครงการของภาครัฐที่มีมูลค่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ภาคเอกชนจะต้องมีผู้สังเกตการณ์อิสระที่จะร่วมรับรู้การจัดซื้อจัดจ้างนั้นอยู่ด้วย ถ้ามีอะไรไม่ถูกต้องผู้สังเกตการณ์ก็จะท้วงติง และบริษัทเอกชนรายใดที่มีการทุจริตให้สินบน จะต้องถูกขึ้นบัญชีดำ เพื่อไม่ให้บริษัทเหล่านั้นได้เข้ามาจัดซื้อจัดจ้างอีกต่อไป

นายปานเทพ กล่าวอีกว่า ด้านการป้องกันเฝ้าระวัง โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริต ประชาชนจะทำหน้าที่เป็นผู้แจ้งเบาะแสนั้น และรัฐต้องคุ้มครองผู้ที่แจ้งเบาะแส พร้อมทั้งกำหนดในแผนงานให้ประชาชนแต่ละจังหวัดจัดตั้งเครือข่ายอย่างน้อย 5 เครือข่าย และให้ความสำคัญต่อการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ตั้งแต่ระดับเยาวชน เช่น โครงการโตไปไม่โกง โครงการสำนึกไทยไม่โกง ทั้งนี้ ได้มีการประสานกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อทำโครงการโตไปไม่โกงให้เป็นรูปธรรม โดยกำหนดเนื้อหาเรื่องดังกล่าวลงในหลักสูตรการศึกษาระดับประถมศึกษา นอกจากนี้ ยังอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสผ่านสื่อต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น แจ้งผ่านแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์มือถือ หรือสื่ออื่น ๆ ที่จะมีการจัดทำขึ้นมารองรับเรื่องดังกล่าว และการจัดตั้งหน่วยงานตรวจสอบข้อเท็จจริงของเบาะแสที่ได้รับ ภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)

นอกจากนี้ ยังจัดทำเรื่อง Citizen Feedback ให้ประชาชนเป็นผู้สะท้อนงานบริการของภาครัฐ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐปรับปรุงการทำงานต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้น

มาตรการที่ 3 เรื่อง การปราบปราม ทุกเรื่องของการฟ้องร้องเรื่องการทุจริต จะต้องมีกรอบระยะเวลาการดำเนินการอย่างชัดเจน รวดเร็ว และจะมีการเอาผิดกับทั้งผู้ให้สินบนและผู้รับสินบนในเวลาเดียวกัน เรื่องความเด็ดขาดในการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทุจริต ผิดทางคุณธรรมจริยธรรม ผิดทางด้านวินัย จะต้องดำเนินการจัดการคดีให้แล้วเสร็จใน 30 วัน หากเกิดความเสียหายรุนแรงเป็นคดีอาญา จะต้องมีการฟ้องร้องไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และมีการโยกย้ายออกจากตำแหน่งงาน

มาตรการสุดท้าย ด้านการบริหารจัดการเป็นเรื่องสำคัญ จะต้องมีหน่วยงานกำกับดูแลนโยบายเรื่องการทุจริตระดับชาติ เรียกว่า คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ที่มีอยู่แล้ว โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งจะต้องปรับปรุงให้ใช้ได้ในเหตุการณ์ปกติ และปรับปรุงศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านทุจริตระดับกระทรวง (ศปท.) ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

และการพยายามผลักดันกฎหมายต่าง ๆ เพื่อรองรับการปฏิรูปให้สำเร็จเป็นรูปธรรมได้ตามเป้าหมาย ได้แก่ กฎหมายเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง กฎหมายเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ กฎหมายการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนมาแจ้งข้อมูลชี้เบาะแส กฎหมายคุ้มครองผู้ชี้เบาะแส กฎหมายข้อมูลข่าวสารภาครัฐ เวลาประชาชนภายนอกเรียกร้องข้อมูลข่าวสาร ภาครัฐจะต้องให้ ยกเว้นข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความไม่ปลอดภัยของภาครัฐ เป็นต้น

Read-only version.

หน้าแรกคอมมิวนิตี้ » ฝากข่าวประชาสัมพันธ์ (Information & Service)
ปฏิรูปด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ผลักดัน

หน้าที่ 1 จากทั้งหมด 1

 

บริการข้อมูลผ่านหน้าจอมือถือ